วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การใช้ไวรัส NPV ควบคุมแมลงศัตรูพืช



การใช้ไวรัส เอ็น พี วี ควบคุมแมลงศัตรูพืช

การนำไวรัส เอ็น พี วี มาควบคุมแมลงศัตรูพืชเพื่อช่วยลด หรือทดแทนสารฆ่าแมลงที่เกษตรกรใช้อยู่ประจำจะเป็นการเพิ่มทางเลือกการใช้สารฆ่าแมลงให้เกษตรกรเพื่อช่วยลดอันตรายจากพิษของสารเคมีกำจัดแมลง และลดปัญหาสารพิษตกค้างบนพืช ตลอดจนผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมช่วยให้ศัตรูธรรมชาติได้รอดชีวิตและช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การลดการใช้สารฆ่าแมลงในที่สุด

ไวรัส เอ็น พี วี คืออะไร

เอ็น พี วี ย่อมาจาก Nuclear Polyhedrosis Virus (NPV) เป็นไวรัสที่เกิดโรคกับแมลงชนิดหนึ่งจากหลายชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำลายแมลงศัตรูพืชได้สูงสุด เหมาะสมที่จะนำมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช เนื่องจากสามารถเจาะจงแมลงที่จะกำจัดได้ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์สัตว์ พืช และมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุดในประเทศไทยได้มีการพัฒนาผลิตไวรัส เอ็น พี วี ของแมลงศัตรูพืช ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ3 ชนิด ได้แก่ ไวรัส เอ็น พี วี ของหนอนกระทู้หอม ไวรัส เอ็น พี วีของหนอนเจาะสมอฝ้าย และไวรัส เอ็น พี วี ของหนอนกระทู้ผัก

🔯 สนใจวิธีกำจัดแมลงวันทองคลิกที่นี่ 🔯



ไวรัส เอ็น พี วี ทำลายแมลงอย่างไร

ไวรัส เอ็น พี วี จะทำให้แมลงเป็นโรคและตาย โดยการที่ตัวอ่อนของแมลงต้องกินไวรัสที่ปะปนอยู่บนใบพืชอาหาร เมื่อไวรัสเข้าสู่กระเพาะอาหาร ผลึกโปรตีนที่ห่อหุ้มอนุภาคของไวรัสจะถูกย่อยสลาย โดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของแมลงที่มีฤทธิ์เป็นด่าง อนุภาคไวรัสจะหลุดออกมาและเข้าทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร เมื่อไวรัสไปทำลายเซลล์กระเพาะอาหารอนุภาคของไวรัสขยายพันธุ์ทวีจำนวนมากขึ้นแพร่กระจายเข้าสู่ภายในลำตัวของแมลง เข้าไปทำลายอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของแมลง เช่น เม็ดเลือด ไขมัน กล้ามเนื้อ ผนังลำตัว เป็นต้น เมื่อเซลล์เหล่านี้ถูกทำลายการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ จะเสียไปทำให้หนอนตายในที่สุด

การแพร่ระบาดของ ไวรัส เอ็น พี วี

ไวรัส เอ็น พี วี สามารถแพร่ระบาดโรคไปในหมู่ประชากรของแมลงศัตรูพืชได้ เช่น เมื่อหนอนกระทู้หอมได้รับไวรัส เอ็น พี วีจากการพ่นเชื้อลงบนต้นพืชอาหาร หนอนจะกินเชื้อไวรัส เอ็น พี วี และเกิดอาการโรค โดยทั่ว ๆ ไป หนอนจะเกิดโรคและตายใช้เวลาประมาณ 2 – 7 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของหนอนที่ได้รับเชื้อ เมื่อหนอนตายหนอนตัวอื่น ๆ กัดกินซากก็จะได้รับเชื้อไวรัส เอ็น พี วี จากซากหนอนตาย ลมและฝนจะเป็นตัวช่วยให้ไวรัสแพร่กระจายออกไปในหมู่ประชากรของหนอนกระทู้หอม นอกจากนั้น การที่นกหรือสัตว์เลื้อยคลานกินซากหนอนตาย จะช่วยแพร่กระจายโรคไวรัสให้ไปได้ไกลขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าหนอนได้รับเชื้อไวรัส เอ็น พี วี ในปริมาณที่ไม่สามารถทำให้เกิดเป็นโรคตาย และสามารถเจริญเติบโตต่อไปจนเป็นตัวเต็มวัย แม่ผีเสื้อสามารถถ่ายทอดโรคไวรัสไปสู่รุ่นลูกและหลานต่อไปได้ โดยการายทอดไปกับไข่และเกิดการระบาดต่อไปเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม เป็นการช่วยควบคุมประชากรของหนอนได้อีกทางหนึ่ง

ข้อดีของการใช้ไวรัส เอ็น พี วี

เป็นจุลินทรีย์ที่พบในประเทศไทย ผ่านการทดสอบแล้วว่าปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์ จึงปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อมไม่มีสารพิษตกค้างบนพืช นำไปควบคุมแมลงเช่นเดียวกับสารฆ่าแมลงทั่ว ๆ ไป แมลงสร้างความต้านทานได้ช้ากว่าสารฆ่าแมลงมีความเฉพาะเจาะจงต่อชนิดของแมลงศัตรูพืช จึงปลอดภัยต่อแมลงศัตรูธรรมชาติและแมลงที่มีประโยชน์นำไปใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดแมลงได้ เกษตรกรสามารถต่อเชื้อใช้เองได้อีกเป็นการประหยัดเงินค่าสารฆ่าแมลง

ข้อจำกัดของไวรัส เอ็น พี วี

ไวรัส เอ็น พี วี ต้องการเวลาฟักตัว ก่อนที่หนอนจะเกิดอาการโรคและตาย โดยทั่วไปใช้เวลา 2 – 7 วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดอายุของหนอนและปริมาณเชื้อไวรัสที่กินเข้าไป ต้องทำความเข้าใจและศึกษาวิธีการใช้อย่างถูกต้อง จึงจะสามารถนำไปใช้อย่างได้ผล เกษตรกรยังคุ้นเคยกับการใช้สารเคมีกำจัดแมลงที่ออกฤทธิ์รวดเร็วในการกำจัดแมลงศัตรูพืช มักไม่ค่อยยอมรับการใช้ไวรัส ซึ่งใช้เวลานานที่จะทำให้หนอนตาย ไวรัส เอ็น พี วี ใช้ได้ผลดีกับพืชที่มีแมลงศัตรูพืชน้อยชนิด ที่สำคัญคือหนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้ผัก และหนอนกระทู้หอม ไวรัส เอ็น พี วีคงอยู่บนพืชได้ระยะเวลาสั้น เสื่อมประสิทธิภาพลงรวดเร็ว เนื่องจากรังสีอุลตร้าไวโอเลตจากแสงแดด

คำแนะนำการใช้ไวรัส เอ็น พี วี
ควบคุมหนอนกระทู้หอม ชนิดของพืชที่มีหนอนกระทู้หอม เป็นศัตรูสำคัญ ได้แก่ หอมแดง หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง แต่งโม พืชตระกูลกะหล่ำ ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว
พริก กระเจี๊ยบเขียว มะเขือเทศ ถั่วเขียว ถั่วเหลืองฝักสด ฝ้าย ดาวเรือง เบญจมาศ กุหลาบและกล้วยไม้ เป็นต้น โดย ใช้อัตรา 20 – 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 – 10 วัน และเมื่อพบการระบาดรุนแรงพ่นอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4 วัน ติดต่อกัน 2 ครั้ง

ควบคุมหนอนเจาะสมอฝ้าย
ชนิดของพืชที่มีหนอนเจาะสมอฝ้ายเป็นศัตรูสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา มะเขือเทศ ฝ้ายพริก กระเจี๊ยบเขียว องุ่น หน่อไม้ฝรั่งและส้มเขียวหวาน เป็นต้น โดยใช้อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 – 7 วัน และเมื่อพบการระบาดรุนแรงพ่นทุก 3 วัน ติดต่อกัน 2 ครั้ง


ควบคุมหนอนกระทู้ผัก
ชนิดของพืชที่มีหนอนกระทู้ผัก เป็นศัตรูสำคัญ ได้แก่ พืชตระกูลกะหล่ำ กุหลาบ กล้วยไม้ เบญจมาศ องุ่น ดาวเรือง กระเจี๊ยบเขียวหน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ ถั่วเขียว ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วฝักยาวและ ถั่วลันเตา โดยใช้อัตรา 40 – 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อพบการระบาด โดยพ่นทุก 7 – 1 0 วัน และเมื่อพบการระบาดรุนแรง พ่นอัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4 วัน ติดต่อกัน 2 ครั้ง

ข้อแนะนำในการใช้ ไวรัส เอ็น พี วี ให้มีประสิทธิภาพ

- อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ไวรัส เอ็น พี วี ให้เข้าใจ
- ผสมไวรัส เอ็น พี วี กับน้ำปริมาณน้อย ๆ ให้เข้ากันก่อน จึงค่อยเทใส่ถังเครื่องพ่นสาร
- ก่อนพ่นควรผสมสารจับใบทุกครั้ง
- ปรับขนาดหัวฉีดให้ได้ละอองขนาดเล็กที่สุด
- การพ่นควรพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ
- ควรพ่นหลังบ่ายสามโมงเย็นเพื่อหลีกเลี่ยงรังสีอุลตร้าไวโอเลต
- การพ่นไวรัสจะได้ผลดีควรพ่นในขณะหนอนมีขนาดเล็ก
- เก็บในที่ห่างจากความร้อนและแสงแดด


(ข้อมูลจาก : การใช้ไวรัสเอ็น พี วี ควบคุมแมลงศัตรูพืช กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 2544)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การแก้ปัญหาแมลงวันผลไม้

เมืองหลวงของแมลงวันทองในประเทศไทย

  แอดมินจะพาไปดูว่าชาวสวนมะม่วงมีวิธีอยู่ร่วมกันกับแมลงวันทองยังไง ในพื้นที่ๆมีแต่พืชอาหารของแมลงวันทองเช่นมะม่วง มันเป็นเหมือนเมืองหลวงของแ...

บทความที่ได้รับความนิยม